เคล็ดลับการตั้งค่ามือถือ Android ให้ปลอดภัยจากภัยร้ายในโลกไซเบอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสร้างเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่งผ่านฟีเจอร์ความปลอดภัยของอุปกรณ์ ไม่ว่าจะซื้อโทรศัพท์มือถือมาใหม่หรือเครืองเดิมคู่ใจก็สามารถตั้งค่าเองได้ที่บ้าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งเรื่องงานเรื่องส่วนตัวหรือแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างน้อยภาพสะท้อนจากตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนที่โตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการ Android ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วโลก นอกจากส่งมอบความสะดวกสบายแล้วส่วนหนึ่งเพราะเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย แต่ถึงอย่างนั้นการปกป้องตัวเองจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวก็ยังเป็นเรื่องจำที่ไม่ควรมองข้าม
เคล็ดลับตั้งค่ามือถือ Android ให้ปลอดภัย
ล็อกหน้าจอโทรศัพท์
การล็อกหน้าจอโทรศัพท์เป็นมาตราฐานการรักษาความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการเข้าถึงอุปกรณ์จากบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ในระบบปฏิบัติการ Android ได้พัฒนาระบบล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ แต่การล็อกหน้าจอด้วยตัวอักษรกับตัวเลขยังเป็นวิธียอดนิยมและทำได้ง่าย ดังนี้
- เปิด การตั้งค่า
- แตะ ล็อกหน้าจอ
- ตั้งรหัส PIN สำหรับล็อกหน้าจอ
ซึ่งรหัส PIN ไม่ได้ไว้แค่ล็อกหน้าจอโทรศัพท์เท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการเข้าถึงการตั้งค่าความปลอดภัยของอุปกรณ์ได้อีกด้วยอย่างเช่น ล็อกหน้าจอกันขโมยบน Android เมื่อโทรศัพท์ถูกวิ่งราว

เปิดใช้ Smart Lock
ฟีเจอร์ Smart Lock ในระบบปฏิบัติการ Android อาจไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก แต่ค่อนข้างมีประโยชน์ในการควบคุมอุปกรณ์ให้ปลอดภัย โดยตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้มีวิธีการตั้งค่า ดังนี้
- เปิด การตั้งค่า > ล็อกหน้าจอ
- แตะ Smart Lock ป้อนรหัส PIN เพื่อเข้าถึงการตั้งค่า
จากนั้นทำตามคำแนะนำของระบบในการตั้งค่าจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ตัวเลือก ได้แก่ การตรวจจับร่างกาย, สถานที่ที่เชื่อถือได้ และ อุปกรณ์ที่เชื่อถือได้
เปิดการค้นหาอุปกรณ์
Find My Device เป็นบริการของ Google อาจมองได้ว่าเป็นฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยในระบบ Android ที่ต้องมีติดเครื่องไว้ เพื่อช่วยติดตามอุปกรณ์ในกรณีที่เกิดสูญหายหรือโดนขโมย ซึ่งเจ้าของอุปกรณ์สามารถติดตามและจัดการข้อมูลส่วนตัวภายในเครื่องก่อนคนร้ายเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสาร์ทโฟน Android ทุกยี่ห้อมีระบบค้นหาโทรศัพท์ส่วนตัว เช่น Samsung Galaxy ก็มีบริการ Find My Mobile ที่สามารถติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ สั่งลบข้อมูลจากระยะไกล และค้นหาออฟไลน์ได้เหมือนกัน
หยุดใช้แอปที่ไม่รู้จัก
การติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชัน Android จากแหล่งที่มาที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ อาจทำให้โทรศัพท์มือถือของเราเสี่ยงถูกแฮกเกอร์เข้าควบคุมเครื่องและล้วงข้อมูลส่วนตัว ดังนั้นมาตรวจสอบกันดูว่าแอปที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องมีแอปไหนบ้างที่ควรหยุดใช้และลบออกเพื่อความปลอดภัย
- ไปที่ การตั้งค่า > แอป
- แตะ 3 จุด ด้านบน เลือก การเข้าถึงพิเศษ
- แตะ ติดตั้งแอปที่ไม่รู้จัก
- สลับปุ่ม on หยุดใช้แอป
หลังจากหยุดการทำงานของแอปที่ไม่รู้จักในขั้นตอนถัดไปให้จัดการถอนการติดตั้งออกจากเครื่อง ถ้าลบไม่ได้ให้ลองใช้แอป Files by Google ค้นหาไฟล์ของแอปต้องสงสัยแล้วลบออกหรือไม่มั่นใจก็ต้องล้างเครื่องคืนค่าเริ่มต้นใหม่

เปิด Play Protect บล็อกแอปอันตราย
หากคุณใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในระบบ Android ไม่ว่ายี่ห้อไหนต้องมีแอป Google Play Store ติดเครื่องไว้ นอกจากเป็นศูนย์กลางแหล่งรวมแอปพลิเคชันแล้วยังมีฟีเจอร์ Play Protect เปรียบเสมือน Antivirus ช่วยรักษาอุปกรณ์และข้อมูลให้ปลอดภัย หากต้องการเช็คว่า Play Protect เปิดการทำงานอยู่หรือไม่ให้ทำตามขั้นตอน ดังนี้
- เปิดแอป Google Play Store
- แตะ รูปโปรไฟล์ เลือก Play Protect
- แตะ การตั้งค่า ด้านบนมุมขวา
จุดเด่นของฟีเจอร์ Google Play Protect จะช่วยตรวจสอบและสแกนหาแอปที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง รวมถึงบล็อกอันตรายที่ติดตั้งจากแหล่งที่มาไม่รู้จักหรือไม่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อระบบตรวจสอบก็จะส่งแจ้งเตือนให้ทราบซึ่งตัวระบบออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถถอนการติดตั้งเองและระบบนำออกให้อัตโนมัติ

อัปเดตซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
การอัปเดตซอฟต์แวร์ของระบบปฏิบัติการ Android รวมทั้งแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากช่องโหว่ของระบบมักตกอยู่ในความเสี่ยงที่แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ดังนั้นควรอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ ส่วนแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานหรือเลิกใช้แล้วก็ควรถอนการติดตั้งออกจากเครื่อง
แม้โทรศัพท์มือถือจะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่กับตัวเราแทบจะตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้การันตีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะการพัฒนาระบบป้องกันดีแค่ไหน เพราะถึงที่สุดแล้วแฮกเกอร์จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้หรือไม่ก็อยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานของเราเอง